แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ
น้ำเป็นทรัพยากรสำคัญของโลก เพราะโลกมีปริมาณน้ำมากถึงร้อยละ 98 ในจำนวนนั้นมีเพียงร้อยละ 2.59 เท่านั้นที่เป็นน้ำจืดซึ่งมนุษย์ใช้ประโยชน์ได้โดยตรง เป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำเค็มในทะเล การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้ได้น้ำที่มีคุณภาพดีเหมาะแก่การนำไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม จนถึงบริโภคอุปโภคในครัวเรือน แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำแบ่งตามกิจกรรมมีดังนี้
วิธีอนุรักษ์น้ำ
การดูแลรักษาแหล่งน้ำจากกิจกรรมทางการเกษตร – การปลูกพืชเกษตรจำเป็นต้องใช้แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ตลอดจนถึงการระบายน้ำทิ้งจากพืชผัก ดังนั้นเกษตรกรจึงควรลดการใช้สารเคมีที่มีพิษ เพราะสารเคมีเหล่านั้นย่อมไหลลงแหล่งน้ำและซึมลงใต้ดิน ควรหาความรู้เพื่อประยุกต์ใช้กับการอนุรักษ์น้ำ เช่น เทคโนโลยีชลประทาน ระบบน้ำหยดในการเพาะปลูก ตลอดถึงการปลูกต้นไม้ใกล้เคียงเพื่อให้ซึมซับน้ำก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำ
การรักษาแหล่งน้ำจากภาคอุตสาหกรรม – น้ำเสียเป็นส่วนหนึ่งของภาคอุตสาหกรรม โรงงานจึงควรวางแผนการบำบัดน้ำก่อนปล่อยลงสู่สิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการคัดแยกของแข็งที่ปนเปื้อนกับน้ำ แล้วเติมคลอรีนเพื่อกำจัดของเสีย จากนั้นคัดแยกของหนืดเติมออกซิเจนเพื่อให้แบคทีเรียย่อยอินทรียวัตถุเป็นขั้นตอนสุดท้ายการกำจัดสารมลพิษในน้ำก่อนระบายทิ้งสู่แหล่งน้ำ
การรักษาแหล่งน้ำจากภาคครัวเรือน – แม้ภาคครัวเรือนจะไม่มีสารเคมีปนเปื้อนเท่ากับภาคอุตสาหกรรม แต่สามารถใช้วิธีกำจัดของเสียก่อนระบายเช่นเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องใช้ระบบให้สิ้นเปลืองมากขนาดนั้น อาจหาวิธีที่เหมาะสมและง่ายกว่า เช่น การสร้างบ่อกักเก็บอย่างถูกวิธี ติดตั้งสุขภัณฑ์และระบบประหยัดน้ำ
แนวทางการดูแลรักษาแหล่งต้นน้ำ
การปลูกป่า – แหล่งกำเนิดน้ำจืดที่สำคัญคือน้ำใต้ดิน พื้นที่ภูเขาโดยเฉพาะป่าที่อุดมสมบูรณ์ การปลูกป่าจะช่วยเพิ่มต้นไม้ที่เป็นตัวกักเก็บน้ำตามธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดทั้งบนดินและใต้ดิน แล้วปลดปล่อยน้ำออกมาอย่างต่อเนื่องได้ตลอดทั้งปีโดยไม่เหือดแห้ง
การพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ – แหล่งกักเก็บน้ำในปัจจุบันเริ่มเสื่อมโทรมและมีสภาพตื้นเขิน ทำให้ปริมาณน้ำลดลงไม่เพียงพอต่อการแจกจ่ายในชุมชน ดังนั้นการขุดลอกแหล่งน้ำให้กว้างและลึกเพื่อกักเก็บน้ำมากๆ จึงมีความสำคัญ ตลอดถึงหาวิธีกักเก็บน้ำแบบธรรมชาติ เช่น โครงการแก้มลิง
สร้างฝายชะลอน้ำเพื่อให้น้ำไหลผ่านช้าลง – ทำให้บริเวณนั้นกักเก็บน้ำได้มากขึ้น เป็นผลทำให้พื้นที่ป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นด้วย